Tuesday, November 27, 2007

ทรงพระเจริญ



งานของตัวเองที่ส่งเข้าร่วมโครงการอักขรศิลป์ "ทรงพระเจริญ" ตอนแรกงานจะจบลงแบบที่เห็นเล็กๆตรงมุมกระดาษด้านบน แต่ไปๆมาๆ อยากลองเปลี่ยนมุมดูบ้าง อยากให้กราฟิกดูเหมือนจับต้องได้มากกว่างานระนาบเดียว คิดว่ามิติทำให้เกิดความหมายบางอย่าง หรือเพิ่มความรู้สึกพิเศษให้กับคำที่มีความหมายยิ่งใหญ่มากขึ้น

งานครั้งนี้จัดขึ้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เพื่อจัดแสดงในระหว่างวันที่ 14 - 17 ธันวาคม 2550 บริเวณ โถงชั้น 1 สยามดิสคอพเวอรี่เซ็นเตอร์และผ่านเว็บไซต์ www.songpracharoen.org

ใครสนใจร่วมส่งผลงานออกแบบ “ทรงพระเจริญ” ได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550

Monday, November 19, 2007

โปสเตอร์เพื่อการเรียนรู้

ไม่นานมานี้ได้รับมอบหมายงานให้ออกแบบโปสเตอร์คัดสรรดีมาก โดยมีโจทย์ให้นำฟอนต์รูปภาพ (Pi / Picture Font) ทั้งหมดมาออกแบบประกอบรวมกันเป็นโปสเตอร์ ๑ แผ่น หน้า-หลัง พิมพ์ ๒ สีเพื่อเป็นของขวัญให้แก่พันธมิตรในช่วงปีใหม่



ฟังดูเป็นเรื่องที่ง่าย แค่นำองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วมาจัดเรียงลงไป เมื่อถึงเวลาเริ่มออกแบบ เปิดหน้าเปล่าขึ้นมา ๑ หน้า เห็นพื้นที่สี่เหลี่ยมสีขาวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับฟอนต์รูปภาพทั้งหมด ๖ ชุดของบริษัทนับร้อยๆที่เรียงรายอยู่เป็นแถว ทันใดนั้นก็พบว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับตัวเอง ความว่างเปล่าเข้าครอบงำเฉียบพลันโดยไม่มีสาเหตุ อาการผิดปกติ ดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อโดยอ.อนุทินว่าโรค "Untitled1 Syndrome" เมื่อความว่างเปล่าบนหน้าจอมาพร้อมกับความมึนงง แล้วเราควรทำอย่างไร



ท้ายที่สุด โปสเตอร์แผ่นแรกของเราก็สำเร็จลุล่วงมาได้ด้วยดี (ด้วยความสมบุกสมบันและทุลักทุเล) ใช้เวลาในการออกแบบโดยผ่านขั้นตอนการลองผิดลองถูกแบบไร้ทิศทาง เป็นสาเหตุให้ใช้เวลาและความบุกบั่นสูงกว่าปกติ แต่ก็รู้สึกดีที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากประสบการณ์การทำโปสเตอร์แผ่นนี้



เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการมีคอนเซปต์และกระบวนการที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง (แต่การลองผิดลองถูกก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีสำหรับการเริ่มต้น)

Friday, November 16, 2007

Book Review

โดย สุพิสา วัฒนะศันสนีย
Supisa Wattanasansanee
for OOM-December 2007

Tord Boontje
Martina Margetts
ISBN 0-8478-2929-4



หนังสือที่รวบรวมผลงานของ Tord Boontje โดย Martina Margetts ผู้ซึ่งรู้จักผลงานของเขาเป็นอย่างดีมากว่า 10 ปี ใช้เวลารวบรวมข้อมูลต่างๆจากการพูดคุยกับคนที่เกียวข้องกับ Tord Boontje กว่า 30 คน หนังสือเล่มนี้ออกแบบโดยสตูดิโอ Graphic Thought Facility ในลอนดอน ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ร่วมงานกับ Tord มาตั้งแต่ปี 1999 ระยะเวลาที่สะสมมา ทำให้เลือกหยิบจับความเป็นตัวตนของเขามานำเสนอได้อย่างชัดเจนและลงตัว เรียกได้ว่ามีอาร์ตไดเรคชั่นที่รู้ทางกัน รู้จักความเป็น Tord ที่ชัดเจน เหมือนเป็นการนำเสนอโลกส่วนตัวของเขาออกมา โดยแทบจะไม่ต้องผ่านการดีไซน์ แทบจะไม่ได้เรียกว่าเป็นงาน เพราะสิ่งที่รวบรวมมานำเสนอในเล่มนี้คือสิ่งที่เป็นตัวตนเขา นี่คือชีวิตของเขา โลกของเขา ที่ต้องการให้คนอื่นเห็นภาพตามและเสพความสวยงามที่จับต้องได้จริง

When art meets space + When space meets art
Viction : Workshop Ltd.
ISBN 9789889822804



อย่าปล่อยให้รูปลักษณ์หน้าปกของหนังสือเล่มนี้หลอกคุณ อย่าเชื่อว่างานภายในเล่มจะสะดุดตา น่าจับต้องเหมือนกับหน้าปก อย่าเชื่อจนกว่าคุณจะได้สัมผัสกับความคุ้มค่าด้านใน ชื่อของหนังสือเล่มนี้เกริ่นถึงรูปแบบงานในเล่มอย่างชัดแจ้งและถ่องแท้ที่สุด ครึ่งหนึ่งของหนังสือคือ When space meets art เป็นการนำเสนอความเป็นศิลปะที่ใช้พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นตัวทำให้พื้นที่มีความหมายขึ้นด้วยดีไซน์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ When art meet space เป็นการนำเอาศิลปะมาบรรจุลงไปพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้รวมงานของนักออกแบบที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ Nick Bell, Karim Rashid, Build และอีกเพียบ เรียกว่าเล่มเดียวก็คุ้มเกินคาด สำหรับคนที่อยากจะดูงานเชิงพาณิชย์ ก็มีงานแต่งดิสเพลล์ร้านค้าที่หลากหลาย รวมทั้งมีงานออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดล้อมให้แต่ละพื้นที่น่าจับตามองมากขึ้น สร้างความแปลกใหม่และประทับใจให้กับพื้นที่ธรรมดาๆ หลังจากพลิกหนังสือไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมกรุงเทพไม่อุทิศพื้นที่ให้กับงานศิลปะแบบนี้บ้าง คงทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว

Tactile
Robert Klanten
Sven Enmann
Matthias Hubner
ISBN 978-3-89955-200-3



หนังสือเล่มนี้นำเสนอสไตล์งานศิลปะที่ต้องการหลีกหนีจากงานกราฟิกรูปแบบเดิมๆ มาผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้ทางด้านอื่นของศิลปะ เป็นอีกขั้นของการสร้างรูปลักษณ์ของงานออกแบบที่หยิบยืมทักษะของศิลปะ และการใช้วัสดุในแบบ 3มิติ ให้ความสำคัญถึงขนาดลงลึกไปในวัสดุ ตำแหน่งที่มีมิติจับต้องได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเปิดมุมมองของศิลปะรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ติดอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์สี่เหลี่ยมหนังสือเล่มนี้ค่อนไปทางสนองความต้องการของนักออกแบบแนวเอาแต่ใจมากกว่าที่จะหนักไปในเชิงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้มีหนังสือที่รวบรวมงานศิลปะแนวทำมือชื่อ Hidden Track (2005) ถ้าใครที่ชื่นชอบงานออกแบบที่อาศัยศิลปะแนวลูกผสมระหว่างงานทำมือ งานกระดาษ งานอินสตอลเลชั่น และ งานออกแบบสื่อผสม เล่มนี้ก็เป็นขั้นกว่า เป็นก้าวต่อมาที่ไม่ควรพลาด

Package Design in Japan Biennial Vol.12
Japan Package Design Association & Rikuyosha
ISBN 978-4-89737-589-2



หลังจาก 3 เล่มที่ผ่านมาเป็น design for design sake ไปแล้ว เล่มนี้ขอออกแนวเชิงพาณิชย์หน่อย หรือเรียกว่าเน้นการตลาดที่เราจับต้องได้จริงมากกว่างานศิลปะที่มีไว้เสพ เล่มนี้เป็นการรวมรวมเอางานออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลของญี่ปุ่นมารวบรวมไว้ งานที่ถูกเลือกมา โดยรวม สวยเรียบดูดีตามมาตรฐานของประเทศนี้ สไตล์งานที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่กราฟิกที่ไปแปะบนบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป แต่เป็นขั้นกว่าที่ให้ความลำคัญกับลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ การเลือกใช้วัสดุที่แปลกใหม่ รวมไปถึงรูปแบบการพิมพ์ที่สร้างความพิเศษ จากเล่มนี้เราจะเห็นได้่ชัดว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างจุดขาย หรือสร้างความสนใจของผลิตภัณฑ์ของสินค้าได้ดีแค่ไหน บรรจุภัณฑ์ก็เหมือนเป็นเสื้อผ้า เป็นหน้าตาของผลิตภัณฑ์ ที่สร้างบุคลิกให้เราได้ทำความรู้จักก่อนที่จะลิ้มลอง เป็นอำนาจเงียบๆของบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เราต้องการจะครอบครองผลิตภัณฑ์ที่เราไม่เคยคิดจะซื้อเลยด้วยซ้ำ

Thursday, November 1, 2007

ตัวอักษรแห่งอนาคตที่ถูกออกแบบในอดีต

บทความเรื่อง Helvetica ก่อนตีพิมพ์จริงในนิตยสาร room
ฉบับเดือน ธันวาคม ๒๕๕๐

ทุกอย่างย่อมมีวันหมดอายุ สิ่งของมีวันเสื่อมสภาพ งานออกแบบในแต่ละยุคก็มีวันจบลง หากย้อนดูงานออกแบบในยุคก่อนๆ สไตล์ของแต่ละยุคจะมีความจัดจ้านที่แตกต่างกัน อีกทั้งให้ความรู้สึกของความเป็นอดีตที่ชัดเจน เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อเรามองจากปัจจุบันย้อนกลับไป

ตัวอักษรหนึ่งชุดที่มีอายุมากว่า ๕๐ ปี มีมากกว่างานออกแบบหลายชิ้นรวมกัน แต่กลับให้ความรู้สึกสดใหม่อยู่เสมอ Helvetica (เฮลเวทิก้า) คืออักษรชุดนั้นที่กำลังพูดถึง



"๕๐ ปี" นับว่าไม่ใช่น้อยเลยสำหรับอายุของตัวอักษรที่ได้รับการหยิบมาใช้โดยนักออกแบบหลายยุคหลายสมัย หลายสัญชาติทั่วโลก เป็นแบบตัวอักษรที่เราได้พบเห็นผ่านตากันบ่อยครั้ง หรือถึงแม้ว่าคุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ เฮลเวทิก้า มาก่อน แต่เชื่อว่าคุณคงจะต้องเคยเห็นมันมาแล้วอย่างแน่นอนนับครั้งไม่ถ้วน ภาพตัวอักษรที่ไม่มีสันฐาน เรียบ สะอาดตา และให้ความรู้สึกมั่นคง หนักแน่น

หากยังคิดภาพไม่ออกจากคุณสมบัติข้างต้น นึกถึงโลโก้ Toyota, Intel, Nestlé, Evian, Orange, American Airlines, Jeep และโลโก้ต่างๆอีกนับไม่ถ้วน ตัวอักษรหนึ่งชุดที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสายการบินระดับโลก เป็นตัวแทนความแข็งแรงของบริษัทรถยนต์ เป็นตัวแทนของความชัดเจนของแบรนด์ระดับแนวหน้าทั่วโลก จะต้องมีเหตุผลอะไรซักอย่างที่สร้างความพิเศษให้กับตัวอักษรชุดนี้ ที่ตัวอักษรอื่นไม่สามารถแทนที่ได้?



คำตอบของเหตุผล ทั้งหมดทั้งปวง ที่ฟังดูง่ายและธรรมดานั้นกลับอยู่ในตัวของ เฮลเวทิก้า นั่นเอง เพราะในความธรรมดาและความเป็นกลางที่ลงตัว ได้กลายเป็นเหตุผลง่ายๆที่ทำให้เฮลเวทิก้าคลาสสิค เป็นตัวอักษรที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือสามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งเนื้อความที่ดี และเป็นตกแต่งพาดหัวได้อย่างไม่ยิ่งหย่อน เรียกได้ว่าใช้เป็นตัวเล็กก็อ่านง่าย ใช้เป็นตัวใหญ่ก็เข้าที รวมทั้งเป็นตัวอักษรที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับตัวอักษรอื่นๆได้อย่างกลมกลืน ความสามารถดังกล่าวทำให้มันเข้าได้ในทุกโอกาสตั้งแต่โลโก้องค์กรไปจนถึงงานสามัญอย่างใช้พิมพ์รายงานหรือส่งอีเมลล์ก็ตาม

ถึงแม้ในปัจจุบันเฮลเวทิก้าจะเป็นตัวอักษรที่มีให้มากับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง แต่กลับไม่ได้ทำให้คุณค่ามันลดลง สำหรับคนทั่วไปอาจมองข้ามคุณค่าในตัวมันเพราะความเคยชิน แต่สำหรับนักออกแบบที่รู้เท่าทันการออกแบบ เฮลเวทิก้า เป็นตัวอักษรที่ได้รับการหยิบยกมาใช้ในการออกแบบมากที่สุดตัวหนึ่งเลยก็ว่าได้



เดิมทีตัวอักษรต้นแบบของ เฮลเวทิก้า มีชื่อเรียกว่า Akzidenz Grotesk เป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกตั้งแต่ยุต๖๐ และถือเป็นตัวอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกสมัยนิยม (modernist) ได้รับความนิยมอย่างสูงจาก Swiss Style ภายหลังเมื่อนำมาปรับปรุงโดยใช้เทคโนโลยีของ Linotype โดยเพิ่มขนาดความหนาของตัวอักษรให้หลากหลาย และได้นำออกขายภายใต้ชื่อใหม่ว่า เฮลเวทิก้า ซึ่งมาจากชื่อเรียกสวิตเซอร์แลนด์ในภาษาละติน และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่งานรูปแบบ Swiss Style ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมา เฮลเวทิก้า ก็กลายมาเป็นตัวอักษรที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดผลในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อเป็นที่นิยมจนถึงจุดสูงสุด เฮลเวทิก้า ก็เคยถึงยุคตกต่ำด้วยเช่นกัน ในยุด๘๐ ได้เกิดกระแสต่อต้านตัวอักษรประเภท modernist โดยการออกแบบตัวอักษรแบบใหม่ๆขึ้นมาเพื่อสนองกับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ ทำให้ เฮลเวทิก้า ถูกลืมเลือนไป แต่หลังจากนั้นในยุค๙๐ เมื่อนักออกแบบเริ่มต้องการกลับสู่ความเรียบง่ายอีกครั้ง เราจึงได้เห็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้งของ เฮลเวทิก้า ด้วยรูปแบบร่วมสมัยไม่เปลี่ยนแปลง



เฮลเวทิก้า ตัวอักษรคลาสสิกที่สร้างปรากฎการณ์ความเป็นอมตะมากกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งหมดนี้อาจฟังดูยิ่งใหญ่และลึกซึ้งสำหรับคำจำกัดความต่อตัวอักษรหนึ่งชุด แต่หากเทียบตามระยะเวลาอายุการคงอยู่ของมันจะเห็นว่าประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน รวมทั้งเหตุผลที่สร้างให้มันได้รับการยอมรับและสามารถคงอยู่ได้อย่างยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบันต่างหากที่เป็นตัวบ่มคุณค่าให้กับตัวของมัน