Friday, December 21, 2007

SymBloc



ความสามารถทางการสื่อสารที่แสดงออกผ่านทางภาพ เป็นคุณสมบัติเฉพาะที่เห็นเด่นชัดที่สุดของ Picture font ซึ่งจากการรรับรู้ด้วยภาพเราสามารถวิเคราะห์ออกมาจากการสั่งสมประสบการณ์ว่าภาพนั้นต้องการจะสื่อสารอะไรหรือมีความหมายอย่างไร

หลังจากทำงานกับพิคเจอร์ฟอนต์แบบไม่มีความหมายทางสัญญะ มาคราวนี้ได้รับผิดชอบโจทย์โปรเจคที่มีความยากขึ้น นอกจากการสร้างฟอร์มที่สวยงามแล้ว ในโปรเจคนี้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของความหมาย และไม่ใช่เพียงความหมายเดียวอีกด้วย

เรื่องเกิดจากเศษกระดาษเสก็ตซ์ของ อ.อนุทิน ที่ถูกรีบขีดเขียนขึ้นมาขณะติดไฟแดงวันหนึ่ง เศษกระดาษที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายเชิงเสียดสีต่างๆ บางส่วนจากเศษกระดาษนั้นอย่างเช่น รูปปืนสั้นที่ประกอบกันเครื่องหมายสันติภาพ แว่นตาที่มาพร้อมกับเครื่องหมายดอลล่าร์ ฝนตกในร่ม กลายมาเป็นโจทย์ที่ถูกมอบหมายมาให้ขบคิดต่อ



ภาพแต่ละภาพมีความหมายในตัวมันเองและต่างต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างกับผู้พบเห็น เมื่ออ่านสัญญะแล้วจะสามารถเข้าใจได้ตรงกัน สิ่งที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆนี้ แท้จริงแล้วมันคือความมหัศจรรย์ที่เราจะสร้างรูปแบบการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเข้าใจเป็นภาพรวมเดียวกันได้อย่างสากล

SumBloc เป็น Pi ที่ แตกต่างทั้งผลลัพธ์และกระบวนการออกแบบ โดยทั่วไปในการออกแบบ Pi เราจะตั้งหัวเรื่องของชุดก่อน แต่ SymBloc เป็นการมองควบคู่ระหว่างอาร์ตไดเรคชั่นและความหมายของภาพ

การผสมผสานความหมายของภาพให้เกิดความหมายที่ต้องการ สำคัญที่ต้องคำนึงถึงความเป็นสากล เพื่อให้คนสามารถเข้าใจได้ทั่วโลก มีหลายตัวที่ทำขึ้นมาแล้วสามารถเข้าใจได้แค่คนไทย นั่นถือว่าเป็นการสื่อสารที่ไม่บรรลุผล



ส่วนตัวแล้ว SymBloc ถือเป็นขั้นกว่าของการทำพิคเจอร์ฟอนต์ที่เคยทำมาทั้งหมด SymBloc คือการสร้างภาพแต่ละภาพให้เกิดความหมายใหม่ ให้ได้คิดต่อ เกิดอารมณ์ร่วม เกิดมุมมอง เกิดอารมณ์ขัน เกิดวิธีคิดที่แตกต่างออกไป เกิดแนวทางที่มากกว่าหนึ่งหรือสองความหมาย ซึ่งชื่อSymBloc ที่เลือกมาใช้สำหรับฟอนต์ชุดนี้ก็คือการรวมกันระหว่าง Symbol สัญลักษณ์ และ Bloc ซึ่งหมายถึงการรวบรวมความหมายเพื่อเหตุผบางประการ

ภาพหนึ่งอาจเป็นภาพที่เป็นการรวมกันของความหมายที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง อาจทำให้อารมณ์ขันหรือความรู้สึกประชดประชัน แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ของบางสิ่งถ้ามองในระนาบเดียวก็จะได้คนละความหมายหรือคนละความรู้สึกกับการมองในแบบมีมิติ ของบางอย่างถ้ามองแบบไม่ชัดเจนหรือมองผ่านๆไป ก็จะต่างกับการมองอย่างพินิจพิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง

PalPack



Pi ชุดนี้มีที่มาจากความต้องการหยิบยกสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ป้ายสัญลักษณ์พื้นฐานทั่วไปที่ใช้กันทั่วโลกที่เราพบเห็นผ่านตากันเป็นประจำจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต อย่างป้ายหน้าห้องน้ำชาย-หญิง ป้ายร้านอาหาร ห้ามถ่ายรูป ป้ายรูปสุนัข ป้ายสัญลักษณ์การจราจร สัญลักษณ์คน สัตว์ อาหาร เป้นต้น สิ่งที่ทุกคนเห็นและเข้าใจตรงกันทั่วโลกมานำเสนอในรูปแบบที่ต่างออกไป(หรือเรียกว่าในสไตล์ตามใจตัวเอง)
เดิมทีฟอนต์ชุดนี้มาจากฟอนต์สองชุดแยกเป้นสัญลักษณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และอีกชุดเป็นฟอนต์ที่เป็นรูปหน้าคนและหน้าสัตว์ แต่สุดท้ายด้วยความที่ภาพรวมออกมามีทิศทางใกล้เคียงกัน จึงนำมารวมกันเป็น PalPack หนึ่งชุด



การสร้างสัญลักษณ์จากสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องผ่านการค้นคว้า ถึงแม้จะเป็นส่ิงของที่เราคุ้นตา จริงอบู่ที่ส่วนหนึึ่งมาจากภาพในหัว ในจินตนาการ แต่บ่อยครั้งที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด ถึงเป็นการตัดทอน การสร้างสัญลักษณ์ แต่ก็ต้องใส่ใจในเรื่องของสัดส่วนของภาพ การค้นคว้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมออกลงตัวหรือสมดุลย์ในตัวมันเอง อย่างกล้องถ่ายภาพ มีแบบที่ทดลองทำออกมาหลายแบบกว่าจะเจอแบบที่คิดว่าลงตัว ของหลายๆสิ่งต้องผ่านการออกแบบลองผิดลองถูกเพื่อหาอันที่ใช่และลงตัวที่สุด



เส้นโค้งหงายหมายถึงยิ้ม เส้นโค้งคว่ำหมายถึงหน้าบึ่ง เส้นตรงหมายถึงความเรียบง่าย สามเหลี่ยมหมายถึงความมั่นคง จากเรื่องง่ายๆพื้นฐานที่ทำให้เกิดภาพรวมเดียวกัน กลายมาถึงสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นแต่ก็ยังให้ภาพรวมเดียวกันได้

สัญลักษณ์มีอยู่รอบๆตัวเรา สัญลักษณ์แทนคำพูด สัญลักษณ์มีความสากลในตัวเอง สัญลักษณ์เป็นการสร้างภาพเพื่อให้เข้าใจตรงกัน สัญลักษณ์เป็นการสื่อสารโดยข้ามขีดกั้นกลางระหว่างภาษาและเชื้อชาติ

Thursday, December 20, 2007

SunBurst



Pi ชุดถัดมาเป็นส่วนต่อขยายจาก BlossomBusaba คอนเซปต์ของพิคเจอร์ฟอนต์ชุดนี้คือ ความเป็นภาษาสากลมากขึ้น แสดงออกผ่านความเป็นามธรรมของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์



ฟอนต์รูปภาพที่มาจากการพัฒนาดัดแปลงองค์ประกอบพื้นฐาน จากรูปทรงเรขาคณิต นำมาสร้างรูปทรงใหม่ที่ให้เกิดความรุ้สึกที่ต่างออกไป จากจุดพื้นฐานเล็กๆไปสู่ความซับซ้อน จากสิ่งง่ายๆที่ผ่านการปรับง่ายๆเช่น การหมุน พลิก ทับซ้อน ทำซ้ำ ตัดต่อ ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยสร้างต่อจากโครงสร้างของกันและกัน ตัวอักษรชุดนี้คือการสร้างสรรค์จากสิ่งประกอบขั้นพื้นฐานที่สุด





สิ่งที่ได้อย่างแน่นอนคือความสนุกที่มาจากการนำฟอนต์รูปภาพแต่ละอัน มาสร้างประกอบรวมกันเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ เหมือนเป็นการสร้างคุณค่าให้กับองค์ประกอบเล็กๆให้เกิดความหมายและมีคุณค่าที่แตกต่างออกไป มันทำให้เราได้รู้ว่า ด้วยองค์ประกอบพื้นๆนี้เองเราสามารถสร้างฟอร์มได้อย่างไม่รู้จบ และมันทำให้คิดได้ว่า นี่เป็นการใช้พื้นฐานจากการเรียนเรื่องการตัดทอน และการสร้างองค์ประกอบจากปีหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนๆเลย

Monday, December 17, 2007

Blossom Busaba



Bussaba Eathai (บุษบา อีทไทย) ร้านอาหารไทย ชื่อไทยๆ เป็นที่รู้จักแห่งหนึ่งในอังกฤษ ภาพรวมของร้านแสดงออกถึงความเป็นไทยได้สวยงามและเรียบง่าย โดยได้บริษัท Tomato มาดูแลสื่ออินเตอร์แอคทีฟให้ เมื่อทางร้านเปิดบริการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องการสร้างภาพลักษณ์ของร้านให้มีความเป็นไทยมากขึ้น โดยคุณอลันเจ้าของร้านชาวฮ่องกง ต้องการให้ภาพรวมทั้งหมดแสดงออกมาถึงความเป็นไทยได้มากที่สุด ซึ่งคงจะไม่มีใครเข้าใจและแสดงออกมาได้ชัดเจนไปกว่าคนไทย



คัดสรรดีมาก เราจึงได้รับมอบหมายงานในส่วนของเว็บไซต์ และภาพถ่าย แถมรวมไปถึงเรื่องข้างเคียงเช่น ฟอนต์รูปภาพเพื่อสร้างลวดลายตกแต่ง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนี้ และฟอนต์ภาษาไทยเพื่อใช้ประกอบเมนูอาหารซึ่งรับผิดชอบโดย อ.เอกลักษณ์



การออกแบบ Ornament ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยสำหรับใช้เป็น PI (Picture font) ของบุษบา อีทไทย เริ่มแรกจากการค้นคว้าเพื่อที่จะหาจุดเด่นของความเป็นไทยที่ชัดเจนที่สุดออกมา เห็นได้ว่าความเป็นไทย คือ ลักษณะดอกดวง และ การเรียงกันเป็นแพทเทริ์น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องคัดลอกแบบลายโบราณเพื่อให้แสดงออกถึงความเป้นไทยอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ทำคือการนำมาประยุกต์เพื่อให้ดูร่วมสมัยมากที่สุด



แบบตัวอย่างนี้ไม่ใช่คู่สีที่นำไปใช้จริงในงานภาพลักษณ์ เป็นเพียงการนำเสนอผลงานให้เห็นวิธีการนำงานออกแบบแต่ละชิ้นมาประกอบกัน

ฟอนต์รูปภาพทั้งหมด 96 ตัว จากแบบร่างทั้งหมด 300 กว่าตัว กว่าจะผ่านการกลั่นกรอง แยกแยะ ตัดทอนจนเหลือ 96 ตัวได้ ก็หนักเอาการ อ.อนุทิน บอกว่าถ้าผ่านช่วงที่ตันหรือหมดมุขไปได้ ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่หลังจากนั้นคืองานชิ้นคุณภาพ เพราะต้องเค้นออกมาจริงๆ ก็ดั้นด้น ดื้อดึงจนได้ครบตามความต้องการมาได้

ความสนุกของการทำฟอนต์ชุดนี้ไม่ได้จบลงที่ 96 ตัว แต่กลับกลายเป็นความคิดต่อยอดของการนำฟอนต์รุปภาพแต่ละตัวมาสร้างต่อจากการประกอบรวมกัน การนำลวดลายมาเรียงเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ๆขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ เหมือนเป็นความสนุกที่ได้นำตัวต่อเลโก้มาสร้างเป็นรูปร่างต่างๆตามความต้องการของเราเอง