Thursday, October 16, 2008

การปรับตัวของบ้านและสวน

บ้านและสวน โปรเจคแรกที่ได้รับมอบหมายจากคัดสรรดีมากหลังการกลับมาสู่โลกของการทำงานอีกครั้ง ต้องขอบอกไว้ก่อนว่ารายละเอียดเชิงลึกทุกอย่างยังเป็นความลับทางธุรกิจ จึงไม่สามารถนำเอารูปหรือแบบร่างมาโพสให้ดูได้ในขณะนี้

นิตยสารบ้านและสวนที่อยู่คู่แฝงหนังสือบ้านเราให้เห็นมาตั้งแต่เราเองยังจำความไม่ได้ รวมระยะเวลาก็ปาเข้าไป 35 ปี โจทย์ทีไ่ด้รับมอบหมายคือปรับเปลี่ยนหัวหนังสือและเสนอแนะองค์ประกอบบางประการภายในเล่ม เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูจะยุ่งยาก สำหรับหนังสือที่มีอายุกว่าสามทศวรรษ

สิ่งที่เราได้มาจากการย่อยข้อมูลคือ ระยะเวลาเป็นตัวพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ บ้านและสวนจึงเปรียบเสมือนสถาบัน เป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดีที่เต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่คอยแนะนำ และตอบคำถามแก่ผู้อ่าน มากกว่าการให้คำแนะนำจากเพื่อนบอกต่อ เรารู้สึกได้ว่าบ้านและสวนมีตัวตนที่ชัดเจน การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องเห็นความสำคัญของการคงอยู่ของบางสิ่ง การละทิ้งบางสิ่ง มุมมองของการเปลี่ยนแปลงจึงไมใช่การเปลี่ยนเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ แต่ควรเป็นการปรับเพื่อให้สดใหม่ขึ้น อีกทั้งยังต้องการจัดหมวดหมู่ภายในเล่มให้เป็นระบบมากขึ้น โดยสร้างและจัดสรรให้เกิดจุดเด่นบางประการมาเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน สิ่งที่เป็นส่วนประกอบเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะเป็นตัวที่สร้างให้เกิดองค์ประกอบอย่างเป็นระบบ

กระบวนการปรับเปลี่ยนหัวนิตยสารจึงได้เริ่มต้นขึ้น จากโจทย์ที่กำหนดขอบเขตไว้ จึงสรุปวิธีการออกแบบได้เป็น 3 แนวทาง

1. จากแบบแรกซึ่งมาจากหัวหนังสือดั้งเดิมหัวแรกที่เคยใช้เมื่อยี่สิบปีกว่าก่อน ซึ่งพบว่าเป็นตัวหนังสือแบบที่ดูให้ความรู้สึกทันสมัย ไม่มีหัว และแข็งแรงพอที่จะนำกลับมาพลิกแพลงเพื่อใช้ในปัจจุบันได้

2. แนวทางบนกรอบแบบหัวปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่ ซึ่งเป็นตัวหนังสือแบบมีหัว และการใช้งานที่ยึดติอดกับแถบแนวนอนด้านล่างสีเทาเพื่อใส่เดือน ปี หัวหนังสือแบบนี้มีความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านและสวน จึงไม่ควรปรับเปลี่ยนมากจนเกินไป เพื่อให้คงเจตนาเดิมไว้ ปัญหาอยู่ที่ว่าหัวปัจจุบันนั้นเรียบเกินไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรยปก แต่ที่มันยังทำงานเป็นหัวได้ ก็เพราะคนรู้จักบ้านและสวนอยู่แล้ว

3. การสร้่างขึ้นมาใหม่ เหมือนเป็นการสร้างโดยที่ไม่มีภูมิหลังอะไรเลย เป็นแนวทางใหม่ แบบนี้จะเป็นส่วนที่ยากที่สุด เป็นการเริ่มต้นโดยพยายามหยิบจับอะไรใหม่เพื่อมาประกอบให้เป็นบ้านและสวน

ความท้าทายที่ได้รับคือการเลือกที่จะปรับเปลี่ยนละทิ้งจุดไหนและเก็บจุดไหนไว้ และการเปลี่ยนโดยที่ไม่รบกวนบุคลิคเดิมจนเกินไป อ.นุทินเปรียบบ้านและสวนเป็นเหมือนคนคนหนึ่งคน เมื่อเวลาผ่านไปทำให้อายุเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าหน้าตาจะเปลี่ยนเป็นอย่างไร แต่ก็จะต้องดูเป็นคนๆเดิมอยู่ การปรับเปลี่ยนให้เป็นปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เสียกระบวนความเป็นตัวตนเดิม

Wednesday, October 15, 2008

เวลาเป็นสิ่งสมมุติ



เวลาเป็นสิ่งสมมติ จริงๆมนุษย์เราสามารถเดินทางข้ามเวลาได้ ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นขณะเดินทางกลับสู่บ้านเกิด อยู่สูงลอยขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ เดินทางย้อนกลับมาสิบสองชั่วโมง จากการเดินทางข้ามไปอีกครึ่งหนึ่งของโลก การเดินทางย้อนการหมุนของโลกที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ก็เหมือนเดิมทางข้ามเวลา

การเดินทางท่องเที่ยวในอเมริกา ทั้งหมด 8 รัฐในระยะเวลาสี่เดือน เนวาดา, อริโซนา, ยูทาห์, แคลิฟอร์เนีย, โคโรลาโด, อิลลินอยส์, นิวยอร์ค และเทกซัส ความแตกต่างของละรัฐ ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหมือนได้ไปเที่ยวมา 8 ประเทศ การไปครั้งนี้ปักหลักอยู่ที่ออสติน เทกซัส แต่ว่าก็ได้มีโอกาสตระเวณเที่ยวไปเรื่อยเปื่อย ความสุดขั้วมีตั้งแต่อยู่ในเมืองที่สุดแสนจะสงบ ผู้คนเป็นมิตร ไปจนถึงเมืองหลวงที่สุดแสนจะวุ่นวาย บางรัฐ บางเมืองก็ได้แค่ไปเยี่ยมชม ท่องเที่ยว แต่บางรัฐก็ได้ไปใช้ชีวิตอยู่เป็นเรื่องเป็นราว

และแล้วรู้ตัวอีกทีเวลาได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว การกลับมา ทำให้ช่วงระยะเวลาสี่เดือนที่ผ่านมาเหมือนเป็นเรื่องสมมติ ถือว่าเป็นการไปทดลองใช้ชีวตเอาแต่ใจ ลองรีไทร์ก่อนวัยอันควร ได้เที่ยว ได้กินอยู่ ได้ลองใช้ชีวิตที่เรียนรู้อะไรเยอะ ได้ประสบการณ์ ได้เจอผู้คน ได้เจอสังคมใหม่ๆ เห็นวัฒนธรรมความแตกต่าง ความเป็นระบบ ความเจริญทางด้านศิลปะ ได้ทำอะไรที่ไม่เคยคิดจะกล้าทำ ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นชัดๆกะตา เป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มค่าจริงๆ

แต่แล้วการเอาแต่ใจก็จบลง และแล้วการกลับสู่ความเป้นจริงก็ได้เริ่มต้นขึ้น.....ณ บัดนี้

Thursday, April 3, 2008

ความสุขของกะทิ




หลังจากที่ปล่อยปละละเลยบล๊อคให้ร้างมายาวนานกว่า 3 เดือน จนความละอายใจค่อยๆทวีคูณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาของการพลัดวันประกันพรุ่ง แต่ก็ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องเวลาเป็นข้ออ้างเพื่อแก้ตัว เพราะถ้าคิดจะทำจริงๆ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมาหักล้างกันได้อยุ่แล้ว และแล้วในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะต้องจัดการสะสางรวบยอดซะที เลยคิดอยากจะทยอยเอางานในช่วงที่ห่างหายไปมาลงเป็นบันทึก

เริ่มจากงานเลทเทอร์ริง "ความสุขของกะทิ" ภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่สร้างจากสุดยอดวรรณกรรมประทับใจรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๔๙ จากหน้ากระดาษถูกนำมาสร้างให้อยู่บนแผ่นฟิล์ม

หนังที่นำเสนอความสุขของ"กะทิ" เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งสำคัญที่สุด เมื่อแม่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร แต่ก็ยังเข้มแข็ง และยังสามารถเลือกหนทางที่ทำให้ชีวิตของเธอมีความสุขได้ หนังที่ให้ความรุ้สึกอบอุ่นแก่ผู้ดู และให้แง่คิดที่ดี เมื่อดูหนังจบแล้วจูงมือกันออกจากโรงด้วยความรู้สึกอบอุ่นหัวใจและสร้างความรู้สึกสุขใจให้กับผู้ชมได้ทุกกลุ่ม





จากเรื่องราวที่แสดงถึงความรัก ความผูกผัน ความอบอุ่น นำมาเป็นคอนเซปต์หลักทางด้านนามธรรมเพื่อต่อยอดให้เกิดภาพเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนที่สุด ได้เลือกแสดงออกผ่านการออกแบบฟอร์มตัวอักษรภาษาไทยที่มีลายเส้นเชื่อมโยง สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดความเป็นองค์ประกอบเดียวกัน เป็นกลุ่มก้อน มากกว่าการเขียนในลักษณะให้อ่านตามแนวขวางตามปกติ และมีการตัดทอนฟอร์มของตัวอักษร และใช้ความสอดคล้องของลายเส้นใหเ้กิดประโยชน์ ในแบบร่างจึงพยายามนำเสนอเรื่องความผูกพันในเชิงของนามธรรม เชื่อมต่อกันเป็นลักษณะคล้ายๆกับรูปหัวใจสอดแทรกลงไปด้วย เพื่อให้เกิดความหมายลึกซื้งยิ้งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้นำเสนอให้ออกมาให้ดูเป็นหนังสำหรับเด็กเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อให้ดูเหมาะกับทุกวัย เลทเทอร์ริงที่ได้ออกมาจึงให้ความรู้สึกเป็นมิตรต่อผู้อ่าน มีความร่วมสมัยและไม่เป็นไทป์เซตติ้งนิ่งๆ เพียงอย่างเดียว เราพยายามปฎิเสธแนวทางการออกแบบเล็ตเทอริ่งแบบชื่อภาพยนตร์แบบทั่วไปที่มักใช้ เพราะมันทำให้ดูเหมือนๆกันไปหมด


Wednesday, April 2, 2008

หรรษานาสิก



งานไทยเลตเทอร์ริงชิ้นนี้ เป็นโลโก้ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อไว้ใช้สูดดม ให้อารมณ์ดี” ลูกค้าที่อารมณ์ดีมากๆว่ามาอย่างนั้น มีชื่อที่แปลกสะดุดหูว่า "หรรษานาสิก" (ถ้าแปลตรงๆตัวก็ความรื่นรมณ์ทางจมูกนั่นเอง) หลังจากที่ได้ชื่อ และเริ่มการวิเคราะห์แนวทางการออกแบบจากตัวผลิตภัณฑ์แล้ว เลยเกิดความคิดว่าน่าจะนำเสนออกมาในลักษณะที่ยังมีกลิ่นอายความคลาสสิกของไทย แต่แฝงความอารมณ์ดีเอาไว้ ซึ่งคิดว่าเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งที่เราสามารถนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับการเป็นโลโก้ของสินค้าในปัจจุบันได้

ในการออกแบบโลโก้ "หรรษานาสิก" เริ่มจากการค้นคว้าทั้งวิธีการเขียนและวิธีการใช้ตัวอักษรไทยในสมัยโบราณในรูปแบบต่างๆกัน เพื่อหาความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ จากตัวอักษรในสมัยก่อนที่ล้วนประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือ ซึ่งถ้ามองจริงๆแล้วตัวอักษรแต่ละตัวมีเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะตัวที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ค่อนข้างให้ความรู้สึกเป็นอิสระ และไม่ยึดติดกับรูปทรงที่แน่นอน แม่นยำ และตายตัว มีศักยภาพล้นเหลือที่จะสามารถหยิบจับมาพัฒนา ดัดแปลงต่อยอดต่อไปได้ โดยหาลักษณะจุดเด่นจากเอกลักษณ์เหล่านั้นมาจัดระบบ สร้างองค์ประกอบ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และดูร่วมสมัยเหมาะสมกับความเป็นปัจจุบัน

ความเฉิ่มเชยเป็นสิ่งที่เอามาสื่อสารได้ยากเพื่อให้ความรู้สึกตกไปอยู่ในข้างของความน่ารัก งานออกแบบที่เป็นลักษณะตัวสคริบแบบสติกเกอร์สองแถว หรืออะไรที่เป็นลูกทุ่งไปก็จะเป็นปัญหาต่อแบรนด์ เราจึงมามองที่ความเก๋าของตัวอักษรสไตล์ร้านรับตัดเสื้อบูติก หรือความโมเดินท์ของกรุงเทพในยุคก่อนแทน ซึ่งแบบตัวอักษรจะเป็นอะไรที่ทื่อๆและไม่ออแกนิคมากนัก เป็นความร่วมสมัยของกรุงเทพในสมัยก่อนให้ความเฉิ่มสำหรับคนสมัยนี้โดยไม่ลูกทุ่งเกินไป

ความแตกต่างระหว่างเลทเทอร์ริงในแนวนี้สวนทางกันกับงานอย่าง "ความสุขของกะทิ" ซึ่งเป็นเลทเทอร์ริงที่พยายามสร้างโครงสร้างการอยู่รวมกันของตัวอักษรใหม่ (การเลือกใช้ฟอร์ม การจัดวาง ไปจนถึงการสร้างฟอร์มที่เป็นกลุ่มก้อน) เพื่อให้แตกต่างออกไปจากลักษณะการใช้ภาษาไทยแบบดั่งเดิม กลับกันกับเลทเทอร์ริง "หรรษานาสิก" ที่ต้องการจะดึงลักษณะเฉพาะบางประการของตัวอักษรไทยแบบเก่ามาสร้างสรรค์งานเพื่อใช้ในปัจจุบัน

Saturday, March 29, 2008

งานชิ้นแรกเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว

งานชิ้นแรกจากการเริ่มต้นทำงานที่คัดสสรดีมาก เวลาใกล้จะผ่านมาบรรจบครบหนึ่งปีแล้ว ไม่รู้ว่าเมื่อเปรียบเทียบงานชิ้นแรกกับปัจจุบันแล้วศักยภาพลดลงหรือเพิ่มขึ้น เลยมองย้อนกลับไปดูเสียหน่อย



โปรเจคออกแบบโลโก้ให้กับผลิตภัณฑ์สปา ชื่อ วงศ์ษา ออฟ สยาม ชื่อที่ได้ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความอลังการในสไตล์โบราณ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งได้คิดค้นโดยท่านขุนวงศา มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันลูกหลานต้องการรื้อฟื้นสูตรของขุนวงศ์ษา ทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ลูกค้าเล่าถึงภาพในความคิดของเขาให้ฟังว่าอยากให้โลโก้มีหน้าของท่านขุนอยู่บนโลโก้ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นสูตรแท้ดั้งเดิม (ภาพแรกที่เห็นคือกระปุกน้ำพริกตราแม่ประนอมอะไรทำนองนั้น) จึงได้ลองหลายทิศทางเพื่อต่อสู้หลีกหนีกับกระปุกน้ำพริก หาวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับเป็นผลิตภัณฑ์สปาไทยที่มีผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมาย

ได้แนวความคิดว่าอยากนำเสนออกมาในสไตล์คลาสสิิคที่สามารถสะท้อนความเก่าแก่ของสูตรต้นตำหรับ จึงเลือกตัว "W" ซึ่งเป็นตัวอักษรแรกของชื่อมาออกแบบเป็นสัญลักษณ์ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากลายเส้นในสไตล์โบราณ และการเขียนตราประจำตระกูลที่มักใช้ตัวอักษรมาประดิษฐ์ตกแต่งล้อมด้วยลวดลาย ซึ่งทำการค้นคว้าหาตัวอย่างของโลโก้บนแพคเกจจิ้งไทยในยุคนั้น มาประกอบกับการวาดเส้นเวคเตอร์ของกราฟิกยุคปัจจุบัน

มีจุดเด่นที่ความอ่อนช้อยและดูนุ่มนวล ทั้งยังให้ความรู้สึกที่ดูหรูหรา สมกับเป็นผลิตภัณฑ์สปา ลายเส้นมีความคล้องจอง เชื่อมโยงกัน ให้เกิดความเป็นมวลเป็นกลุ่มก้อน เพื่อให้ได้ความรุ้สึกเหมือนเป็นตราสัญลักษณ์หตระกูลในสมัยโบราณแต่ร่วมสมัย เนื่องจากเป็นงานชิ้นแรกที่ได้รับผิดชอบจึงโดนรื้อเรื่องสัดส่วน อยู่หลายต่อครั้ง ซึ่งอานิสงส์ก็ได้ไปตกอยู่กับพิคเจอร์ฟอนต์ และโลโก้อื่นๆที่ได้รับผิดชอยในเวลาต่อมา