โดย สุพิสา วัฒนะศันสนีย
Supisa Wattanasansanee
for OOM-December 2007
Tord Boontje
Martina Margetts
ISBN 0-8478-2929-4
หนังสือที่รวบรวมผลงานของ Tord Boontje โดย Martina Margetts ผู้ซึ่งรู้จักผลงานของเขาเป็นอย่างดีมากว่า 10 ปี ใช้เวลารวบรวมข้อมูลต่างๆจากการพูดคุยกับคนที่เกียวข้องกับ Tord Boontje กว่า 30 คน หนังสือเล่มนี้ออกแบบโดยสตูดิโอ Graphic Thought Facility ในลอนดอน ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ร่วมงานกับ Tord มาตั้งแต่ปี 1999 ระยะเวลาที่สะสมมา ทำให้เลือกหยิบจับความเป็นตัวตนของเขามานำเสนอได้อย่างชัดเจนและลงตัว เรียกได้ว่ามีอาร์ตไดเรคชั่นที่รู้ทางกัน รู้จักความเป็น Tord ที่ชัดเจน เหมือนเป็นการนำเสนอโลกส่วนตัวของเขาออกมา โดยแทบจะไม่ต้องผ่านการดีไซน์ แทบจะไม่ได้เรียกว่าเป็นงาน เพราะสิ่งที่รวบรวมมานำเสนอในเล่มนี้คือสิ่งที่เป็นตัวตนเขา นี่คือชีวิตของเขา โลกของเขา ที่ต้องการให้คนอื่นเห็นภาพตามและเสพความสวยงามที่จับต้องได้จริง
When art meets space + When space meets art
Viction : Workshop Ltd.
ISBN 9789889822804
อย่าปล่อยให้รูปลักษณ์หน้าปกของหนังสือเล่มนี้หลอกคุณ อย่าเชื่อว่างานภายในเล่มจะสะดุดตา น่าจับต้องเหมือนกับหน้าปก อย่าเชื่อจนกว่าคุณจะได้สัมผัสกับความคุ้มค่าด้านใน ชื่อของหนังสือเล่มนี้เกริ่นถึงรูปแบบงานในเล่มอย่างชัดแจ้งและถ่องแท้ที่สุด ครึ่งหนึ่งของหนังสือคือ When space meets art เป็นการนำเสนอความเป็นศิลปะที่ใช้พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นตัวทำให้พื้นที่มีความหมายขึ้นด้วยดีไซน์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ When art meet space เป็นการนำเอาศิลปะมาบรรจุลงไปพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้รวมงานของนักออกแบบที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ Nick Bell, Karim Rashid, Build และอีกเพียบ เรียกว่าเล่มเดียวก็คุ้มเกินคาด สำหรับคนที่อยากจะดูงานเชิงพาณิชย์ ก็มีงานแต่งดิสเพลล์ร้านค้าที่หลากหลาย รวมทั้งมีงานออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดล้อมให้แต่ละพื้นที่น่าจับตามองมากขึ้น สร้างความแปลกใหม่และประทับใจให้กับพื้นที่ธรรมดาๆ หลังจากพลิกหนังสือไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมกรุงเทพไม่อุทิศพื้นที่ให้กับงานศิลปะแบบนี้บ้าง คงทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
Tactile
Robert Klanten
Sven Enmann
Matthias Hubner
ISBN 978-3-89955-200-3
หนังสือเล่มนี้นำเสนอสไตล์งานศิลปะที่ต้องการหลีกหนีจากงานกราฟิกรูปแบบเดิมๆ มาผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้ทางด้านอื่นของศิลปะ เป็นอีกขั้นของการสร้างรูปลักษณ์ของงานออกแบบที่หยิบยืมทักษะของศิลปะ และการใช้วัสดุในแบบ 3มิติ ให้ความสำคัญถึงขนาดลงลึกไปในวัสดุ ตำแหน่งที่มีมิติจับต้องได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเปิดมุมมองของศิลปะรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ติดอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์สี่เหลี่ยมหนังสือเล่มนี้ค่อนไปทางสนองความต้องการของนักออกแบบแนวเอาแต่ใจมากกว่าที่จะหนักไปในเชิงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้มีหนังสือที่รวบรวมงานศิลปะแนวทำมือชื่อ Hidden Track (2005) ถ้าใครที่ชื่นชอบงานออกแบบที่อาศัยศิลปะแนวลูกผสมระหว่างงานทำมือ งานกระดาษ งานอินสตอลเลชั่น และ งานออกแบบสื่อผสม เล่มนี้ก็เป็นขั้นกว่า เป็นก้าวต่อมาที่ไม่ควรพลาด
Package Design in Japan Biennial Vol.12
Japan Package Design Association & Rikuyosha
ISBN 978-4-89737-589-2
หลังจาก 3 เล่มที่ผ่านมาเป็น design for design sake ไปแล้ว เล่มนี้ขอออกแนวเชิงพาณิชย์หน่อย หรือเรียกว่าเน้นการตลาดที่เราจับต้องได้จริงมากกว่างานศิลปะที่มีไว้เสพ เล่มนี้เป็นการรวมรวมเอางานออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลของญี่ปุ่นมารวบรวมไว้ งานที่ถูกเลือกมา โดยรวม สวยเรียบดูดีตามมาตรฐานของประเทศนี้ สไตล์งานที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่กราฟิกที่ไปแปะบนบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป แต่เป็นขั้นกว่าที่ให้ความลำคัญกับลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ การเลือกใช้วัสดุที่แปลกใหม่ รวมไปถึงรูปแบบการพิมพ์ที่สร้างความพิเศษ จากเล่มนี้เราจะเห็นได้่ชัดว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างจุดขาย หรือสร้างความสนใจของผลิตภัณฑ์ของสินค้าได้ดีแค่ไหน บรรจุภัณฑ์ก็เหมือนเป็นเสื้อผ้า เป็นหน้าตาของผลิตภัณฑ์ ที่สร้างบุคลิกให้เราได้ทำความรู้จักก่อนที่จะลิ้มลอง เป็นอำนาจเงียบๆของบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เราต้องการจะครอบครองผลิตภัณฑ์ที่เราไม่เคยคิดจะซื้อเลยด้วยซ้ำ