Friday, December 21, 2007

SymBloc



ความสามารถทางการสื่อสารที่แสดงออกผ่านทางภาพ เป็นคุณสมบัติเฉพาะที่เห็นเด่นชัดที่สุดของ Picture font ซึ่งจากการรรับรู้ด้วยภาพเราสามารถวิเคราะห์ออกมาจากการสั่งสมประสบการณ์ว่าภาพนั้นต้องการจะสื่อสารอะไรหรือมีความหมายอย่างไร

หลังจากทำงานกับพิคเจอร์ฟอนต์แบบไม่มีความหมายทางสัญญะ มาคราวนี้ได้รับผิดชอบโจทย์โปรเจคที่มีความยากขึ้น นอกจากการสร้างฟอร์มที่สวยงามแล้ว ในโปรเจคนี้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของความหมาย และไม่ใช่เพียงความหมายเดียวอีกด้วย

เรื่องเกิดจากเศษกระดาษเสก็ตซ์ของ อ.อนุทิน ที่ถูกรีบขีดเขียนขึ้นมาขณะติดไฟแดงวันหนึ่ง เศษกระดาษที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ให้ความหมายเชิงเสียดสีต่างๆ บางส่วนจากเศษกระดาษนั้นอย่างเช่น รูปปืนสั้นที่ประกอบกันเครื่องหมายสันติภาพ แว่นตาที่มาพร้อมกับเครื่องหมายดอลล่าร์ ฝนตกในร่ม กลายมาเป็นโจทย์ที่ถูกมอบหมายมาให้ขบคิดต่อ



ภาพแต่ละภาพมีความหมายในตัวมันเองและต่างต้องการจะสื่อสารอะไรบางอย่างกับผู้พบเห็น เมื่ออ่านสัญญะแล้วจะสามารถเข้าใจได้ตรงกัน สิ่งที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆนี้ แท้จริงแล้วมันคือความมหัศจรรย์ที่เราจะสร้างรูปแบบการสื่อสารที่ทำให้ทุกคนเข้าใจเป็นภาพรวมเดียวกันได้อย่างสากล

SumBloc เป็น Pi ที่ แตกต่างทั้งผลลัพธ์และกระบวนการออกแบบ โดยทั่วไปในการออกแบบ Pi เราจะตั้งหัวเรื่องของชุดก่อน แต่ SymBloc เป็นการมองควบคู่ระหว่างอาร์ตไดเรคชั่นและความหมายของภาพ

การผสมผสานความหมายของภาพให้เกิดความหมายที่ต้องการ สำคัญที่ต้องคำนึงถึงความเป็นสากล เพื่อให้คนสามารถเข้าใจได้ทั่วโลก มีหลายตัวที่ทำขึ้นมาแล้วสามารถเข้าใจได้แค่คนไทย นั่นถือว่าเป็นการสื่อสารที่ไม่บรรลุผล



ส่วนตัวแล้ว SymBloc ถือเป็นขั้นกว่าของการทำพิคเจอร์ฟอนต์ที่เคยทำมาทั้งหมด SymBloc คือการสร้างภาพแต่ละภาพให้เกิดความหมายใหม่ ให้ได้คิดต่อ เกิดอารมณ์ร่วม เกิดมุมมอง เกิดอารมณ์ขัน เกิดวิธีคิดที่แตกต่างออกไป เกิดแนวทางที่มากกว่าหนึ่งหรือสองความหมาย ซึ่งชื่อSymBloc ที่เลือกมาใช้สำหรับฟอนต์ชุดนี้ก็คือการรวมกันระหว่าง Symbol สัญลักษณ์ และ Bloc ซึ่งหมายถึงการรวบรวมความหมายเพื่อเหตุผบางประการ

ภาพหนึ่งอาจเป็นภาพที่เป็นการรวมกันของความหมายที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง อาจทำให้อารมณ์ขันหรือความรู้สึกประชดประชัน แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ของบางสิ่งถ้ามองในระนาบเดียวก็จะได้คนละความหมายหรือคนละความรู้สึกกับการมองในแบบมีมิติ ของบางอย่างถ้ามองแบบไม่ชัดเจนหรือมองผ่านๆไป ก็จะต่างกับการมองอย่างพินิจพิเคราะห์อย่างสิ้นเชิง

PalPack



Pi ชุดนี้มีที่มาจากความต้องการหยิบยกสื่อสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ป้ายสัญลักษณ์พื้นฐานทั่วไปที่ใช้กันทั่วโลกที่เราพบเห็นผ่านตากันเป็นประจำจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต อย่างป้ายหน้าห้องน้ำชาย-หญิง ป้ายร้านอาหาร ห้ามถ่ายรูป ป้ายรูปสุนัข ป้ายสัญลักษณ์การจราจร สัญลักษณ์คน สัตว์ อาหาร เป้นต้น สิ่งที่ทุกคนเห็นและเข้าใจตรงกันทั่วโลกมานำเสนอในรูปแบบที่ต่างออกไป(หรือเรียกว่าในสไตล์ตามใจตัวเอง)
เดิมทีฟอนต์ชุดนี้มาจากฟอนต์สองชุดแยกเป้นสัญลักษณ์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และอีกชุดเป็นฟอนต์ที่เป็นรูปหน้าคนและหน้าสัตว์ แต่สุดท้ายด้วยความที่ภาพรวมออกมามีทิศทางใกล้เคียงกัน จึงนำมารวมกันเป็น PalPack หนึ่งชุด



การสร้างสัญลักษณ์จากสิ่งทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องผ่านการค้นคว้า ถึงแม้จะเป็นส่ิงของที่เราคุ้นตา จริงอบู่ที่ส่วนหนึึ่งมาจากภาพในหัว ในจินตนาการ แต่บ่อยครั้งที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด ถึงเป็นการตัดทอน การสร้างสัญลักษณ์ แต่ก็ต้องใส่ใจในเรื่องของสัดส่วนของภาพ การค้นคว้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมออกลงตัวหรือสมดุลย์ในตัวมันเอง อย่างกล้องถ่ายภาพ มีแบบที่ทดลองทำออกมาหลายแบบกว่าจะเจอแบบที่คิดว่าลงตัว ของหลายๆสิ่งต้องผ่านการออกแบบลองผิดลองถูกเพื่อหาอันที่ใช่และลงตัวที่สุด



เส้นโค้งหงายหมายถึงยิ้ม เส้นโค้งคว่ำหมายถึงหน้าบึ่ง เส้นตรงหมายถึงความเรียบง่าย สามเหลี่ยมหมายถึงความมั่นคง จากเรื่องง่ายๆพื้นฐานที่ทำให้เกิดภาพรวมเดียวกัน กลายมาถึงสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นแต่ก็ยังให้ภาพรวมเดียวกันได้

สัญลักษณ์มีอยู่รอบๆตัวเรา สัญลักษณ์แทนคำพูด สัญลักษณ์มีความสากลในตัวเอง สัญลักษณ์เป็นการสร้างภาพเพื่อให้เข้าใจตรงกัน สัญลักษณ์เป็นการสื่อสารโดยข้ามขีดกั้นกลางระหว่างภาษาและเชื้อชาติ

Thursday, December 20, 2007

SunBurst



Pi ชุดถัดมาเป็นส่วนต่อขยายจาก BlossomBusaba คอนเซปต์ของพิคเจอร์ฟอนต์ชุดนี้คือ ความเป็นภาษาสากลมากขึ้น แสดงออกผ่านความเป็นามธรรมของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์



ฟอนต์รูปภาพที่มาจากการพัฒนาดัดแปลงองค์ประกอบพื้นฐาน จากรูปทรงเรขาคณิต นำมาสร้างรูปทรงใหม่ที่ให้เกิดความรุ้สึกที่ต่างออกไป จากจุดพื้นฐานเล็กๆไปสู่ความซับซ้อน จากสิ่งง่ายๆที่ผ่านการปรับง่ายๆเช่น การหมุน พลิก ทับซ้อน ทำซ้ำ ตัดต่อ ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบที่สลับซับซ้อนมากขึ้น โดยสร้างต่อจากโครงสร้างของกันและกัน ตัวอักษรชุดนี้คือการสร้างสรรค์จากสิ่งประกอบขั้นพื้นฐานที่สุด





สิ่งที่ได้อย่างแน่นอนคือความสนุกที่มาจากการนำฟอนต์รูปภาพแต่ละอัน มาสร้างประกอบรวมกันเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ เหมือนเป็นการสร้างคุณค่าให้กับองค์ประกอบเล็กๆให้เกิดความหมายและมีคุณค่าที่แตกต่างออกไป มันทำให้เราได้รู้ว่า ด้วยองค์ประกอบพื้นๆนี้เองเราสามารถสร้างฟอร์มได้อย่างไม่รู้จบ และมันทำให้คิดได้ว่า นี่เป็นการใช้พื้นฐานจากการเรียนเรื่องการตัดทอน และการสร้างองค์ประกอบจากปีหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนๆเลย

Monday, December 17, 2007

Blossom Busaba



Bussaba Eathai (บุษบา อีทไทย) ร้านอาหารไทย ชื่อไทยๆ เป็นที่รู้จักแห่งหนึ่งในอังกฤษ ภาพรวมของร้านแสดงออกถึงความเป็นไทยได้สวยงามและเรียบง่าย โดยได้บริษัท Tomato มาดูแลสื่ออินเตอร์แอคทีฟให้ เมื่อทางร้านเปิดบริการมาได้ระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องการสร้างภาพลักษณ์ของร้านให้มีความเป็นไทยมากขึ้น โดยคุณอลันเจ้าของร้านชาวฮ่องกง ต้องการให้ภาพรวมทั้งหมดแสดงออกมาถึงความเป็นไทยได้มากที่สุด ซึ่งคงจะไม่มีใครเข้าใจและแสดงออกมาได้ชัดเจนไปกว่าคนไทย



คัดสรรดีมาก เราจึงได้รับมอบหมายงานในส่วนของเว็บไซต์ และภาพถ่าย แถมรวมไปถึงเรื่องข้างเคียงเช่น ฟอนต์รูปภาพเพื่อสร้างลวดลายตกแต่ง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลนี้ และฟอนต์ภาษาไทยเพื่อใช้ประกอบเมนูอาหารซึ่งรับผิดชอบโดย อ.เอกลักษณ์



การออกแบบ Ornament ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยสำหรับใช้เป็น PI (Picture font) ของบุษบา อีทไทย เริ่มแรกจากการค้นคว้าเพื่อที่จะหาจุดเด่นของความเป็นไทยที่ชัดเจนที่สุดออกมา เห็นได้ว่าความเป็นไทย คือ ลักษณะดอกดวง และ การเรียงกันเป็นแพทเทริ์น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องคัดลอกแบบลายโบราณเพื่อให้แสดงออกถึงความเป้นไทยอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ทำคือการนำมาประยุกต์เพื่อให้ดูร่วมสมัยมากที่สุด



แบบตัวอย่างนี้ไม่ใช่คู่สีที่นำไปใช้จริงในงานภาพลักษณ์ เป็นเพียงการนำเสนอผลงานให้เห็นวิธีการนำงานออกแบบแต่ละชิ้นมาประกอบกัน

ฟอนต์รูปภาพทั้งหมด 96 ตัว จากแบบร่างทั้งหมด 300 กว่าตัว กว่าจะผ่านการกลั่นกรอง แยกแยะ ตัดทอนจนเหลือ 96 ตัวได้ ก็หนักเอาการ อ.อนุทิน บอกว่าถ้าผ่านช่วงที่ตันหรือหมดมุขไปได้ ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบาก แต่หลังจากนั้นคืองานชิ้นคุณภาพ เพราะต้องเค้นออกมาจริงๆ ก็ดั้นด้น ดื้อดึงจนได้ครบตามความต้องการมาได้

ความสนุกของการทำฟอนต์ชุดนี้ไม่ได้จบลงที่ 96 ตัว แต่กลับกลายเป็นความคิดต่อยอดของการนำฟอนต์รุปภาพแต่ละตัวมาสร้างต่อจากการประกอบรวมกัน การนำลวดลายมาเรียงเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ๆขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ เหมือนเป็นความสนุกที่ได้นำตัวต่อเลโก้มาสร้างเป็นรูปร่างต่างๆตามความต้องการของเราเอง

Tuesday, November 27, 2007

ทรงพระเจริญ



งานของตัวเองที่ส่งเข้าร่วมโครงการอักขรศิลป์ "ทรงพระเจริญ" ตอนแรกงานจะจบลงแบบที่เห็นเล็กๆตรงมุมกระดาษด้านบน แต่ไปๆมาๆ อยากลองเปลี่ยนมุมดูบ้าง อยากให้กราฟิกดูเหมือนจับต้องได้มากกว่างานระนาบเดียว คิดว่ามิติทำให้เกิดความหมายบางอย่าง หรือเพิ่มความรู้สึกพิเศษให้กับคำที่มีความหมายยิ่งใหญ่มากขึ้น

งานครั้งนี้จัดขึ้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา เพื่อจัดแสดงในระหว่างวันที่ 14 - 17 ธันวาคม 2550 บริเวณ โถงชั้น 1 สยามดิสคอพเวอรี่เซ็นเตอร์และผ่านเว็บไซต์ www.songpracharoen.org

ใครสนใจร่วมส่งผลงานออกแบบ “ทรงพระเจริญ” ได้ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550

Monday, November 19, 2007

โปสเตอร์เพื่อการเรียนรู้

ไม่นานมานี้ได้รับมอบหมายงานให้ออกแบบโปสเตอร์คัดสรรดีมาก โดยมีโจทย์ให้นำฟอนต์รูปภาพ (Pi / Picture Font) ทั้งหมดมาออกแบบประกอบรวมกันเป็นโปสเตอร์ ๑ แผ่น หน้า-หลัง พิมพ์ ๒ สีเพื่อเป็นของขวัญให้แก่พันธมิตรในช่วงปีใหม่



ฟังดูเป็นเรื่องที่ง่าย แค่นำองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วมาจัดเรียงลงไป เมื่อถึงเวลาเริ่มออกแบบ เปิดหน้าเปล่าขึ้นมา ๑ หน้า เห็นพื้นที่สี่เหลี่ยมสีขาวบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ พร้อมกับฟอนต์รูปภาพทั้งหมด ๖ ชุดของบริษัทนับร้อยๆที่เรียงรายอยู่เป็นแถว ทันใดนั้นก็พบว่าเกิดความผิดปกติขึ้นกับตัวเอง ความว่างเปล่าเข้าครอบงำเฉียบพลันโดยไม่มีสาเหตุ อาการผิดปกติ ดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อโดยอ.อนุทินว่าโรค "Untitled1 Syndrome" เมื่อความว่างเปล่าบนหน้าจอมาพร้อมกับความมึนงง แล้วเราควรทำอย่างไร



ท้ายที่สุด โปสเตอร์แผ่นแรกของเราก็สำเร็จลุล่วงมาได้ด้วยดี (ด้วยความสมบุกสมบันและทุลักทุเล) ใช้เวลาในการออกแบบโดยผ่านขั้นตอนการลองผิดลองถูกแบบไร้ทิศทาง เป็นสาเหตุให้ใช้เวลาและความบุกบั่นสูงกว่าปกติ แต่ก็รู้สึกดีที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากประสบการณ์การทำโปสเตอร์แผ่นนี้



เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการมีคอนเซปต์และกระบวนการที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง (แต่การลองผิดลองถูกก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีสำหรับการเริ่มต้น)

Friday, November 16, 2007

Book Review

โดย สุพิสา วัฒนะศันสนีย
Supisa Wattanasansanee
for OOM-December 2007

Tord Boontje
Martina Margetts
ISBN 0-8478-2929-4



หนังสือที่รวบรวมผลงานของ Tord Boontje โดย Martina Margetts ผู้ซึ่งรู้จักผลงานของเขาเป็นอย่างดีมากว่า 10 ปี ใช้เวลารวบรวมข้อมูลต่างๆจากการพูดคุยกับคนที่เกียวข้องกับ Tord Boontje กว่า 30 คน หนังสือเล่มนี้ออกแบบโดยสตูดิโอ Graphic Thought Facility ในลอนดอน ซึ่งเป็นสตูดิโอที่ร่วมงานกับ Tord มาตั้งแต่ปี 1999 ระยะเวลาที่สะสมมา ทำให้เลือกหยิบจับความเป็นตัวตนของเขามานำเสนอได้อย่างชัดเจนและลงตัว เรียกได้ว่ามีอาร์ตไดเรคชั่นที่รู้ทางกัน รู้จักความเป็น Tord ที่ชัดเจน เหมือนเป็นการนำเสนอโลกส่วนตัวของเขาออกมา โดยแทบจะไม่ต้องผ่านการดีไซน์ แทบจะไม่ได้เรียกว่าเป็นงาน เพราะสิ่งที่รวบรวมมานำเสนอในเล่มนี้คือสิ่งที่เป็นตัวตนเขา นี่คือชีวิตของเขา โลกของเขา ที่ต้องการให้คนอื่นเห็นภาพตามและเสพความสวยงามที่จับต้องได้จริง

When art meets space + When space meets art
Viction : Workshop Ltd.
ISBN 9789889822804



อย่าปล่อยให้รูปลักษณ์หน้าปกของหนังสือเล่มนี้หลอกคุณ อย่าเชื่อว่างานภายในเล่มจะสะดุดตา น่าจับต้องเหมือนกับหน้าปก อย่าเชื่อจนกว่าคุณจะได้สัมผัสกับความคุ้มค่าด้านใน ชื่อของหนังสือเล่มนี้เกริ่นถึงรูปแบบงานในเล่มอย่างชัดแจ้งและถ่องแท้ที่สุด ครึ่งหนึ่งของหนังสือคือ When space meets art เป็นการนำเสนอความเป็นศิลปะที่ใช้พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นตัวทำให้พื้นที่มีความหมายขึ้นด้วยดีไซน์ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือ When art meet space เป็นการนำเอาศิลปะมาบรรจุลงไปพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เพื่อเติมเต็มพื้นที่ที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ หนังสือเล่มนี้รวมงานของนักออกแบบที่มีชื่อเสียงตั้งแต่ Nick Bell, Karim Rashid, Build และอีกเพียบ เรียกว่าเล่มเดียวก็คุ้มเกินคาด สำหรับคนที่อยากจะดูงานเชิงพาณิชย์ ก็มีงานแต่งดิสเพลล์ร้านค้าที่หลากหลาย รวมทั้งมีงานออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดล้อมให้แต่ละพื้นที่น่าจับตามองมากขึ้น สร้างความแปลกใหม่และประทับใจให้กับพื้นที่ธรรมดาๆ หลังจากพลิกหนังสือไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไมกรุงเทพไม่อุทิศพื้นที่ให้กับงานศิลปะแบบนี้บ้าง คงทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว

Tactile
Robert Klanten
Sven Enmann
Matthias Hubner
ISBN 978-3-89955-200-3



หนังสือเล่มนี้นำเสนอสไตล์งานศิลปะที่ต้องการหลีกหนีจากงานกราฟิกรูปแบบเดิมๆ มาผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้ทางด้านอื่นของศิลปะ เป็นอีกขั้นของการสร้างรูปลักษณ์ของงานออกแบบที่หยิบยืมทักษะของศิลปะ และการใช้วัสดุในแบบ 3มิติ ให้ความสำคัญถึงขนาดลงลึกไปในวัสดุ ตำแหน่งที่มีมิติจับต้องได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเปิดมุมมองของศิลปะรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ติดอยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์สี่เหลี่ยมหนังสือเล่มนี้ค่อนไปทางสนองความต้องการของนักออกแบบแนวเอาแต่ใจมากกว่าที่จะหนักไปในเชิงพาณิชย์ ก่อนหน้านี้มีหนังสือที่รวบรวมงานศิลปะแนวทำมือชื่อ Hidden Track (2005) ถ้าใครที่ชื่นชอบงานออกแบบที่อาศัยศิลปะแนวลูกผสมระหว่างงานทำมือ งานกระดาษ งานอินสตอลเลชั่น และ งานออกแบบสื่อผสม เล่มนี้ก็เป็นขั้นกว่า เป็นก้าวต่อมาที่ไม่ควรพลาด

Package Design in Japan Biennial Vol.12
Japan Package Design Association & Rikuyosha
ISBN 978-4-89737-589-2



หลังจาก 3 เล่มที่ผ่านมาเป็น design for design sake ไปแล้ว เล่มนี้ขอออกแนวเชิงพาณิชย์หน่อย หรือเรียกว่าเน้นการตลาดที่เราจับต้องได้จริงมากกว่างานศิลปะที่มีไว้เสพ เล่มนี้เป็นการรวมรวมเอางานออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลของญี่ปุ่นมารวบรวมไว้ งานที่ถูกเลือกมา โดยรวม สวยเรียบดูดีตามมาตรฐานของประเทศนี้ สไตล์งานที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่กราฟิกที่ไปแปะบนบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป แต่เป็นขั้นกว่าที่ให้ความลำคัญกับลูกเล่นเล็กๆน้อยๆ การเลือกใช้วัสดุที่แปลกใหม่ รวมไปถึงรูปแบบการพิมพ์ที่สร้างความพิเศษ จากเล่มนี้เราจะเห็นได้่ชัดว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างจุดขาย หรือสร้างความสนใจของผลิตภัณฑ์ของสินค้าได้ดีแค่ไหน บรรจุภัณฑ์ก็เหมือนเป็นเสื้อผ้า เป็นหน้าตาของผลิตภัณฑ์ ที่สร้างบุคลิกให้เราได้ทำความรู้จักก่อนที่จะลิ้มลอง เป็นอำนาจเงียบๆของบรรจุภัณฑ์ที่ทำให้เราต้องการจะครอบครองผลิตภัณฑ์ที่เราไม่เคยคิดจะซื้อเลยด้วยซ้ำ

Thursday, November 1, 2007

ตัวอักษรแห่งอนาคตที่ถูกออกแบบในอดีต

บทความเรื่อง Helvetica ก่อนตีพิมพ์จริงในนิตยสาร room
ฉบับเดือน ธันวาคม ๒๕๕๐

ทุกอย่างย่อมมีวันหมดอายุ สิ่งของมีวันเสื่อมสภาพ งานออกแบบในแต่ละยุคก็มีวันจบลง หากย้อนดูงานออกแบบในยุคก่อนๆ สไตล์ของแต่ละยุคจะมีความจัดจ้านที่แตกต่างกัน อีกทั้งให้ความรู้สึกของความเป็นอดีตที่ชัดเจน เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อเรามองจากปัจจุบันย้อนกลับไป

ตัวอักษรหนึ่งชุดที่มีอายุมากว่า ๕๐ ปี มีมากกว่างานออกแบบหลายชิ้นรวมกัน แต่กลับให้ความรู้สึกสดใหม่อยู่เสมอ Helvetica (เฮลเวทิก้า) คืออักษรชุดนั้นที่กำลังพูดถึง



"๕๐ ปี" นับว่าไม่ใช่น้อยเลยสำหรับอายุของตัวอักษรที่ได้รับการหยิบมาใช้โดยนักออกแบบหลายยุคหลายสมัย หลายสัญชาติทั่วโลก เป็นแบบตัวอักษรที่เราได้พบเห็นผ่านตากันบ่อยครั้ง หรือถึงแม้ว่าคุณอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ เฮลเวทิก้า มาก่อน แต่เชื่อว่าคุณคงจะต้องเคยเห็นมันมาแล้วอย่างแน่นอนนับครั้งไม่ถ้วน ภาพตัวอักษรที่ไม่มีสันฐาน เรียบ สะอาดตา และให้ความรู้สึกมั่นคง หนักแน่น

หากยังคิดภาพไม่ออกจากคุณสมบัติข้างต้น นึกถึงโลโก้ Toyota, Intel, Nestlé, Evian, Orange, American Airlines, Jeep และโลโก้ต่างๆอีกนับไม่ถ้วน ตัวอักษรหนึ่งชุดที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสายการบินระดับโลก เป็นตัวแทนความแข็งแรงของบริษัทรถยนต์ เป็นตัวแทนของความชัดเจนของแบรนด์ระดับแนวหน้าทั่วโลก จะต้องมีเหตุผลอะไรซักอย่างที่สร้างความพิเศษให้กับตัวอักษรชุดนี้ ที่ตัวอักษรอื่นไม่สามารถแทนที่ได้?



คำตอบของเหตุผล ทั้งหมดทั้งปวง ที่ฟังดูง่ายและธรรมดานั้นกลับอยู่ในตัวของ เฮลเวทิก้า นั่นเอง เพราะในความธรรมดาและความเป็นกลางที่ลงตัว ได้กลายเป็นเหตุผลง่ายๆที่ทำให้เฮลเวทิก้าคลาสสิค เป็นตัวอักษรที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือสามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งเนื้อความที่ดี และเป็นตกแต่งพาดหัวได้อย่างไม่ยิ่งหย่อน เรียกได้ว่าใช้เป็นตัวเล็กก็อ่านง่าย ใช้เป็นตัวใหญ่ก็เข้าที รวมทั้งเป็นตัวอักษรที่สามารถนำมาใช้ร่วมกับตัวอักษรอื่นๆได้อย่างกลมกลืน ความสามารถดังกล่าวทำให้มันเข้าได้ในทุกโอกาสตั้งแต่โลโก้องค์กรไปจนถึงงานสามัญอย่างใช้พิมพ์รายงานหรือส่งอีเมลล์ก็ตาม

ถึงแม้ในปัจจุบันเฮลเวทิก้าจะเป็นตัวอักษรที่มีให้มากับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง แต่กลับไม่ได้ทำให้คุณค่ามันลดลง สำหรับคนทั่วไปอาจมองข้ามคุณค่าในตัวมันเพราะความเคยชิน แต่สำหรับนักออกแบบที่รู้เท่าทันการออกแบบ เฮลเวทิก้า เป็นตัวอักษรที่ได้รับการหยิบยกมาใช้ในการออกแบบมากที่สุดตัวหนึ่งเลยก็ว่าได้



เดิมทีตัวอักษรต้นแบบของ เฮลเวทิก้า มีชื่อเรียกว่า Akzidenz Grotesk เป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกตั้งแต่ยุต๖๐ และถือเป็นตัวอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ของการบุกเบิกสมัยนิยม (modernist) ได้รับความนิยมอย่างสูงจาก Swiss Style ภายหลังเมื่อนำมาปรับปรุงโดยใช้เทคโนโลยีของ Linotype โดยเพิ่มขนาดความหนาของตัวอักษรให้หลากหลาย และได้นำออกขายภายใต้ชื่อใหม่ว่า เฮลเวทิก้า ซึ่งมาจากชื่อเรียกสวิตเซอร์แลนด์ในภาษาละติน และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่งานรูปแบบ Swiss Style ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมา เฮลเวทิก้า ก็กลายมาเป็นตัวอักษรที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดผลในทิศทางตรงกันข้าม เมื่อเป็นที่นิยมจนถึงจุดสูงสุด เฮลเวทิก้า ก็เคยถึงยุคตกต่ำด้วยเช่นกัน ในยุด๘๐ ได้เกิดกระแสต่อต้านตัวอักษรประเภท modernist โดยการออกแบบตัวอักษรแบบใหม่ๆขึ้นมาเพื่อสนองกับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ ทำให้ เฮลเวทิก้า ถูกลืมเลือนไป แต่หลังจากนั้นในยุค๙๐ เมื่อนักออกแบบเริ่มต้องการกลับสู่ความเรียบง่ายอีกครั้ง เราจึงได้เห็นการกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้งของ เฮลเวทิก้า ด้วยรูปแบบร่วมสมัยไม่เปลี่ยนแปลง



เฮลเวทิก้า ตัวอักษรคลาสสิกที่สร้างปรากฎการณ์ความเป็นอมตะมากกว่าครึ่งศตวรรษ ทั้งหมดนี้อาจฟังดูยิ่งใหญ่และลึกซึ้งสำหรับคำจำกัดความต่อตัวอักษรหนึ่งชุด แต่หากเทียบตามระยะเวลาอายุการคงอยู่ของมันจะเห็นว่าประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน รวมทั้งเหตุผลที่สร้างให้มันได้รับการยอมรับและสามารถคงอยู่ได้อย่างยิ่งใหญ่จนถึงปัจจุบันต่างหากที่เป็นตัวบ่มคุณค่าให้กับตัวของมัน

Wednesday, October 31, 2007

5.5 x 9 cm. เพื่อแนะนำตัว

วิธีทำความรู้จักหรือแนะนำตัวกับคนที่เพิ่งพบเจอกันครั้งแรก อาจทักทายกันด้วยท่าทีหรือการพูดจา แต่สำหรับโลกที่ต้องติดต่อสื่อสารกันเชิงธุรกิจ อาจมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ต้องร่นระยะเวลาในการทำความรู้จักให้สั้นที่สุด การกระทำดังกล่าวจึงถูกแทนที่ด้วยวัตถุสำคัญหนึ่งชิ้นที่กลายเป็นปัจจัย"จำเป็น" ที่ต้องหยิบยื่นให้กันและกัน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสออกแบบนามบัตรให้กับคุณ James Clark (เจมส์ คลาร์ค) ชาวอังกฤษ นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้บุกเบิก.xml ที่ใช้กันทั่วโลก ซึ่งถ้าใครรู้จักโปรแกรมนี้ ก็ต้องรู้จักเขา เขาเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่ให้ความสำคัญกับนามบัตรและถือว่ามันเป็นตัวแทนการแสดงออกถึงตัวตนของเขาให้คนอื่นได้เห็น สำหรับโจทย์ของการออกแบบคือออกแบบยังไงก็ได้ให้แสดงออกถึงความเป็นตัวตนเขา ให้เขาชอบและพอใจมากที่สุด คุณเจมส์เป็นลูกค้าที่รู้ความชอบของตัวเองและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เขาไม่ต้องการให้นามบัตรของเขาดูเท่ ดูเว่อร์ หรือดูเฉียบเกินกว่าที่มันควรจะเป็น เขาเป็นชาวอังกฤษที่ต้องการให้ชื่อของเขาเขียนด้วยภาษาไทยบนนามบัตร เพราะเขารู้สึกว่าการที่เขาอยู่เมืองไทย พูดภาษาไทย การใช้ภาษาไทยทำให้นามบัตรของเขาเป็นมิตรต่อผู้รับมากกว่า



ระยะเวลาในการออกแบบนามบัตรเพียง ๑ ใบกับระยะเวลากว่า ๕ เดือน ช่างเป็นระยะเวลาในการออกแบบที่ยาวนาน ไม่ใช่ว่าการทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า แต่ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างละเอียดและพิถีพิถันที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราพูดถึงความละเอียดที่นอกเหนือจากการเลือกวัสดุ, สี, คู่สี, สไตล์, ตัวอักษร, ตำแหน่งที่ตั้ง, องศา ความละเอียดที่ครั้งหนึ่งถึงขนาดต้องยกคอมพิวเตอร์ไปที่บ้านคุณเจมส์ เพราะการดูในภาพคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะได้ค่าสีที่คลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย และคุณเจมส์ต้องการลองปรับเปลี่ยนเลื่อนตำแหน่ง องศาให้ครบทุกความเป็นไปได้ ความละเอียดทุกขั้นตอนเป็นความละเอียดที่เกินกว่าคนทั่วไปที่จะให้ความสำคัญกับนามบัตรเพียงหนึ่งใบ

นับเป็นนามบัตรหนึ่งใบที่ทั้งลูกค้าและผู้ออกแบบต่างภูมิใจที่สุดเมื่อเห็นผลสำเร็จ เพราะมันเป็นการบรรจบ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างความพอใจสูงสุดของลูกค้าและผู้ออกแบบ ซึ่งน้อยครั้งที่จะมีลูกค้าที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรมากที่สุดพร้อมกับยอมรับฟังเหตุผลของผู้ออกแบบ

ผู้ที่ได้รับนามบัตรของคุณเจมส์น่าจะได้รับพร้อมกระดาษคำอธิบายกระบวนการออกแบบทุกขั้นตอนตลอดระยะเวลา ๕ เดือนแทรกไปด้วย เชื่อว่ามันคงจะทำให้ผู้รับเห็นคุณค่าของนามบัตรใบเล็กๆใบนี้มากขึ้นอีกหลายเท่า

Wednesday, September 26, 2007

เรียบ

ความเป็นมาที่หล่อหลอมความเป็นตัวตน สิ่งที่ก่อให้เกิดความชอบส่วนตัว หรือสิ่งที่กำหนดปัจจัยภายนอกของแต่ละบุคคล ก่อเกิดความเป็นสไตล์ของปัจเจกชนที่แตกต่างกัน

โดยส่วนตัวเป็นคนที่สนใจสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ในอาณาเขตที่ครอบคลุมถึงกัน ชอบสิ่งที่ดูน้อย ไม่มากเรื่อง ไม่วุ่นวาย ง่ายๆ สวยงาม สบายตา สบายใจและจบในตัวมันเอง

"ความเรียบง่าย" ถูกแทนที่การบรรยายลักษณะข้างต้น คงไม่ยากที่จะสามารถคิดจำกัดความของคำๆนี้ ไม่ยากที่คุณจะสามารถจินตนาการถึงภาพของคำๆนี้ได้อย่างชัดเจน คำนี้สามารถมองได้ทั้งในมุมของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ได้หมายความว่าความเรียบง่ายของแต่ละคนจะเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่แน่นอนว่ามันจะอยู่บนพื้นฐานภายใต้จินตนาการเดียวกัน

ไม่จำเป็นจะต้องแสดงออกอย่างฟุ่มเฟือย ความน้อยนิดสร้างคุณค่าให้กับตัวมันเองได้ถ้าเกิดจากเหตุผลที่หนาแน่นเพียงพอ ความน้อยก่อให้เกิดความลงตัวได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งเร้าที่ดึงดูดให้เกิดการปะทะหรือความตื่นเต้นเร้าใจ ความน้อยทำให้เกิดความสวยงามที่ยั่งยืนและยาวนาน

ที่มาของบทความ 4 ย่อหน้านี้ มาจากประโยคหนึ่งประโยค
"Simplicity is beautifully created by complex mind."
(ความเรียบง่ายคือการบรรจงสร้างของวิธีคิดที่ซับซ้อน)

แค่รู้สึกว่าประโยคข้างต้นเป็นประโยคหนึ่งประโยคที่สามารถจำกัดความโดยให้คุณค่าของคำว่าเรียบง่ายได้อย่างสวยงามที่สุด

ขอบคุณอ.อนุทินสำหรับคำคมประโยคด้านบน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความนี้ :")

Tuesday, September 4, 2007

กราฟฟิกสะดวกซื้อ

ถ้าลองหยุดและนั่งมองสังเกตสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ทุกสิ่งล้วนมีที่มาที่ไปและมีกระบวนการที่สลับซับซ้อนในตัวมันเอง แต่หากจะใช้คำว่าทุกสิ่งมาอธิบายประโยคข้างต้นก็ดูจะเป็นจำนวนที่คลอบคลุมมากเกินไป สิ่งของซักหนึ่งชิ้นกว่าจะออกมาเป็นงานที่เสร็จสมบูรณ์ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ผ่านการคิด กลั่นกรอง ลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์ที่สุด แต่สิ่งต่างๆเหล่านั้นก็ได้ถูกตัดทอนหรือบั่นทอนลงไปตามกาลเวลา

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก เช่นนาฬิกาเรือนแรกของโลก โทรศัพท์เครื่องแรกของโลก กล้องเครื่องแรกของโลก ย่อมมีกระบวนการในการสร้างสรรค์นับร้อย นับพันกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ออกมาให้เราเห็นจนเป็นเรื่องธรรมดาในปัจจุบัน แต่เมื่อสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาแล้ว สิ่งต่อมาที่เหลือให้เราทำก็คือ การสร้างเปลือกเพื่อห่อหุ้มสิ่งเก่าให้ดูใหม่และตอบสนองกับความต้องการของโลกเราอยู่ตลอดเวลา

มันจึงถือเป็นเรื่องดีสำหรับเราที่สามารถย่นระยะเวลาในกระบวนการคิดค้นออกไปได้ แต่หน้าที่ของเราคือการสู้รบกับโลกของการดีไซน์ในปัจจุบัน โลกที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอภาพลักษณ์ ความสวยงาม ความเหมาะสม รวมทั้งตอบสนองสไตล์ที่แตกต่างกัน

สิ่งต่างๆรอบตัวเราถ้าจะให้มองด้านการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย การเกิดและการพัฒนาได้เคลื่อนที่ไปในแนวระนาบอย่างช้าๆ แต่สิ่งที่ยังคงวิ่งอยู่และเกิดขึ้นแทบตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่งคือการดีไซน์ที่เปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมให้เกิดสิ่งใหม่ตลอดเวลา ขนมหนึ่งถุงที่มีหีบห่อที่งดงามเกินห้ามใจ ช่วยทำให้ขนมที่รสชาติไม่เอาไหนขาดดิบขายดีกว่าการขายในถุงกระดาษ

แต่หากปราศจากขั้นตอนดีไซน์ กระบวนการสำคัญที่เป็นหัวใจทำให้เกิดความเป็นตัวตน หากทุกคนเชื่อถือในกราฟิกสะดวกซื้อ และตัดความสำคัญของการดีไซน์ไป โลกคงจะหยุดนิ่ง และทุกสิ่งก็คงจะเคลื่อนที่ไปอย่างน่าเบื่อหน่าย เหมือนมองไปทางไหนก็มีแต่สีขาวและดำเป็นแน่แท้..

Monday, September 3, 2007

เปิดบันทึก! ๔ กันยายน ๒๕๕๐

หวังว่าการเขียนบันทึกบทความครั้งแรกอย่างเป็นทางการจะสามารถเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ไม่มากก็น้อย

ขอบคุณค่ะ